วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อย่าเครียดน่ะ ไม่ดีเลย(อย่างไร)

ความเครียดไม่ดียังไง

           
คนเราเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการทำงาน หรือแม้กระทั่งไม่ทำอะไรเลย นั่งๆ นอน ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ ก็อาจเกิดอาการเครียดขึ้นได้ อาการเครียดหรือความเครียดไม่ใช่เพื่อนที่ดีของมนุษย์เลย เมื่อมันเกิดขึ้นกับบุคคลใดรังแต่จะทำร้ายบุคคลนั้นๆ ให้มีศักยภาพในการดำรงชีวิตลดลง หลายๆ อย่างที่ดีๆ ไม่เกิดขึ้น ไม่พัฒนาก็เพราะบุคคลมีอาการเครียด
          ความเครียด เป็นผลมาจากคนที่ช่างสะสมความโกรธมากๆ ความรู้สึกไม่พอใจ ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ความคับข้องใจในเรื่องต่างๆ ความเครียดมีผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ความเครียดยังมีความสัมพันธ์กับความกดดันทางอารมณ์อีกด้วย คนที่มีความเครียดทำอะไรก็หงุดหงิด เบื่อหน่าย บางรายก็ก้าวร้าวก็มี คนที่มีความเครียดมากๆ มักจะมีอาการดังนี้ คือ
ในเรื่องระบบการหายใจ เมื่อบุคคลเกิดอาการเครียดมากๆ เขาเหล่านั้นจะรู้สึกหายใจ
ไม่ออก หายใจไม่เต็มปอด บางรายอาจจะหายใจเร็ว ใจเต้นผิดปกติ และหายใจลึกกว่าธรรมดา ชอบถอนหายใจ มีอาการสะอึกบ่อย บางรายอาจเกิดอาการหืดหอบ และถ้าสะสมความเครียดมาก ๆ ท่านอาจมีอาการหืดหอบถาวรก็ได้
ในเรื่องผิวหนังของผู้มีอาการเครียด มักพบเสมอว่าพอบุคคลเกิดอาการเครียดก็จะมี
อาการแพ้ต่างๆ เป็นผื่น คัน เป็นลมพิษ มีอาการแพ้ง่ายบางครั้งการแพ้นั้นหาสาเหตุไม่พบ มีอาการคันมากกว่าปกติ เหงื่อออกมาก
ในเรื่องระบบกล้ามเนื้อและกระดูกผู้ที่เกิดอาการเครียดเมื่อตื่นขึ้นมามักพบว่าตนเอง
ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่เต็มอิ่ม บางรายอาจมีตะคริวตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเป็นมากอาจต้องพบแพทย์
ในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบประสาท ผู้มีอาการเครียดมักจะรู้สึกปวดหัว หรืออาจปวดหัว
ข้างเดียว ปวดที่บริเวณหัวตา การปวดแบบหาสาเหตุไม่ได้ ไม่ตัวร้อน ไม่มีไข้นั้นเป็นผลมาจากความเครียด
ในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบหัวใจผู้ที่เกิดอาการเครียดมักจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว 
ถ้ามีเรื่องหรือเหตุการณ์ใดๆ มากระตุ้นก็จะรู้สึกใจไม่ค่อยดี เกิดอาการร้อนวูบวาบไปทั่วใบหน้า หรือทั่วตัว นั้นเป็นเพราะความดันโลหิตสูงขึ้น ถ้าปล่อยให้ความเครียดสะสมมากๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้ท่านเป็นโรคหัวใจได้
เมื่อท่านทราบแล้วว่าอาการของความเครียดเกิดอย่างไรต่อไปนี้ท่านควรทราบว่าความเครียดมีสาเหตุมาจากอะไร
ความเครียดมีสาเหตุมากจาก
1.        ตัวเราเอง ถ้าท่านเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น ขี้โกรธ ขี้งอน ขี้อ้อน   ขี้โมโห   คำว่า ขี้ 
หมายถึง ของเสียของไม่ดี เราควรเอาออกจากตัวเราทั้งหมด ความคิดไม่ดี ความรู้สึกไม่ดีที่เกิดจากนิสัยเราเอง ต้องพยายามปรับปรุง ถ้าท่านทำได้ ความเครียดที่เกิดจากตัวเราก็จะลดลง ในบางรายอาจเกิดความเครียดเพราะมีร่างกายไม่แข็งแรง มีความพิการทำอะไรไม่สะดวก หรือผู้หญิงบางคนมีประจำเดือนที่ผิดปกติก็อาจมีความเครียดได้
2.        สิ่งแวดล้อมรอบตัวท่าน เราสามารถแยกประเภทได้ดังนี้
สภาพการทำงาน บางท่านทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เป็นหนี้ บางท่านทำงานในภาครัฐ ทำงานบริษัท อาจจะรู้สึกไม่มั่นคงในระบบงาน ทำให้ต้องทำงานหนัก มีเจ้านายหลายคน ทำงานด้วยความอึดอัดใจ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่ท่านอาจพบว่าเพื่อนท่านก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ท่านเกิดความเครียดได้มาก ถ้าท่านมีเพื่อนที่ชอบพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้ วิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ มากมาย คนที่ไม่ค่อยคิดมากเมื่อมีเพื่อนประเภทนี้ก็เลยคิดมาก ปวดหัวหนักเข้าไปอีก  สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้แต่ผลของมันอาจกระทบตัวเรา เช่น ฝนตกน้ำท่วม หรือแล้งจนไม่มีน้ำฝน ร้อนจนไม่มีน้ำอาบ ไฟฟ้าก็ดับ ลมก็ไม่พัด อยู่ๆ ไปบ้านอาจเกิดไฟไหม้ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่ทันตั้งตัว ปัญหาต่างๆ รุมเร้า นอกจากนี้บางทีปัญหาเล็กน้อยคนอาจเกิดอาการเครียดได้ เช่น รถติด ไปทำงานสาย ไม่ได้รับความดีความชอบ เลือกตัวแพ้ ไปจนกระทั่งปัญหาหนักๆ เช่น ตกงาน มีหนี้สินมาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้บุคคลเกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น
กลวิธีในการลดความเครียด
            เมื่อท่านรู้ว่าสาเหตุความเครียดมาจากอะไร เราก็สามารถหาทางแก้ไขปัญหาความเครียดตามสาเหตุนั้นๆ ไม่มีวิธีการใดๆ ที่ดีที่สุด ถ้าเราไม่รู้จักหันมาดูที่ตัวเราและเริ่มลงมือแก้ปัญหาความเครียดด้วยตัวเราเอง เทคนิคการแก้ไขปัญหาความเครียดอาจดีกับคนหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกคนหนึ่ง ฉะนั้น การเสนอแนวคิดและกลวิธีในการลดความเครียดต่อไปนี้เป็นแค่แนวทางหนึ่งที่ท่านอาจเลือกใช้เพื่อลดความเครียดที่เกิดจากตนเองได้ดังนี้ คือ
1.        ฝึกยอมรับความเป็นจริง มีคนหลายคนที่มักไม่ยอมรับตนเอง คิดแต่ว่าตัวเองเก่ง ตัวเองดี ตัวเองมีความสามารถ คนอื่นไม่เก่ง คนอื่นไม่ดี คนอื่นไม่มีความสามารถการที่บุคคลคิดและมองเช่นนี้ เป็นการคิดที่เข้าข้างตนเองมากเกินไป รักตนเองมากเกินไป ในการคิดที่ถูกบุคคลต้องสามารถยอมรับความเป็นจริงว่ายังมีคนเก่ง คนดี และคนมีความสามารถเช่นเดียวกับเรา หรือถ้าเขาเก่ง ดี หรือมีความสามารถไม่เท่ากับเรา คนๆ นั้นเขาก็เก่ง ดี และมีความสามารถในระดับของเขา ผู้ปกครองบางคนมักจะตั้งคำถามเสมอว่า ทำไมลูกไม่เก่งเหมือนตน ส่งผลให้ผู้ปกครองกดดันลูกๆ ให้เก่งเหมือนตน กดดันตนเองไม่พอไปกดดันลูก  เทคนิคการยอมรับความจริงก็คือ การหัดคิดในแง่บวก หัดคิดในทางที่ดี มองโลกตามความเป็นจริง มองคนอย่างที่เขาเป็นแต่อย่างมองอย่างที่ท่านอยากให้เขาเป็น คือ มองเขาอย่างเป็นเขา มองปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ และพินิจพิเคราะห์พิจารณาอย่างถ่องแท้ เมื่อตัดสินใจแล้วไม่มาคิดย้อนกลับไปกลับมาอีก เคารพความคิดของตนเอง ยอมรับความจริงไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร เราก็ยอมรับความจริงนั้นๆ ได้
            2. ฝึกการผ่อนคลาย บุคคลควรจะรู้จักผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ การผ่อนคลายทางร่างกาย อาจใช้เทคนิคการผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยการเกร็งกล้ามเนื้อในจุดที่เกิดอาการเครียด แล้วผ่อน ทำแบบนี้ 5-10 นาที อยู่ที่ใดก็ทำได้ หรือเข้านวดแผนโบราณ การบำบัดโดยการกดจุด หรือ จะทำง่ายๆ ก็ใช้วิธีออกกำลังกายต่างๆ มาผ่อนคลายกล้ามเนื้อก็ได้ เช่น ขี่จักรยาน เล่นแบดมินตัน เล่นเทนนิส รำมวยจีน บางท่านชอบเข้าชมรมลีลาศก็ไปฝึก หรือบางท่านชอบว่ายน้ำ การว่ายน้ำก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีเช่นกัน ถ้าอุปกรณ์ในการเล่นกีฬาไม่มี เดินทางไปไม่สะดวก การผ่อนคลายโดยการเดินเล่นรอบบริเวณบ้าน รดน้ำพรวนดิน ออกแรงเล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้ท่านผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้     สำหรับการผ่อนคลายทางจิต อาจเป็นเทคนิคที่ยากนิดหน่อย แต่ถ้าท่านทำได้อาการเครียดอาจหายได้เร็วกว่าที่คิด เพราะความเครียดมันเกิดจากภายในแล้วส่งผลออกมาภายนอกร่างกาย การผ่อนคลายทางจิตที่ว่า คือ การฝึกทำสมาธิ โดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายการทำใจให้นิ่งๆ ไม่คิดอะไร คุมให้นิ่งๆ ใช้เวลา 5-10 นาที ให้คิดว่าในโลกนี้ ไม่ใช่เราคนเดียวที่มีความทุกข์ คนอื่นเขาก็ทุกข์เช่นเดียวกับเรา บางคนอาจทุกข์มมากกว่าเสียอีก ดังโคลงสี่สุภาพที่กล่าวว่า
                        “ สิ่งใดในโลกล้วน                               อนิจจัง
                        คงแต่บาปบุญยัง                                  เที่ยงแท้
                        คือเงาติดตัวตรัง                              ตรึงแน่ อยู่นา
                        ตามแต่บุญบาปแล้                               ก่อเกื้อรักษา ”
               ฉะนั้น การฝึกผ่อนคลายจิตอาจใช้หลักของศาสนามานำจิต คิดดี ปฏิบัติดี เท่านี้ ความเครียดก็ไม่เกิด
            3. ฝึกการระบายออก เทคนิคนี้คือการพูดกับใครสักคนที่เราไว้ใจ อาจเป็นพ่อ แม่ ครู อาจารย์ หรือคู่สมรส การระบายเรื่องคับจิตใจออกไปทำให้ความรู้สึกเครียดลดลงไปได้ การพูดคุยเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นการแชร์ความรู้สึก ดีกว่าที่จะเก็บความทุกข์ไว้คนเดียว
                 การระบายออกมีอีกวิธี คือ อาจใช้วิธีเขียนใส่กระดาษ เขียนออกมาเป็นตัวอักษร เขียนความทุกข์ออกมาให้หมด ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ความทุกข์บรรเทาได้ บางคนไม่ใช้การเขียนแต่ใช้การวาดรูป ละเลงสีบนแผ่นกระดาษเวลาเกิดความเครียด บางทีคุณอาจได้งานศิลปะชิ้นงามออกมาก็ได้
          4. ฝึกคิดอะไรให้สนุกๆ บ้าง ทำงานก็สนุกกับการทำงานอยากที่จะทำ ขุดดิน อยู่ในไร่ก็เปิดวิทยุฟังเพลง แล้วร้องตามไปด้วยก็ไม่ผิดกฎอะไร   ทำอะไรทำเพราะเราอยากจะทำ งานนั้นๆ สนุกแน่ หรือมีอารมณ์ขันในการทำงานมาก เอาเรื่องเครียดมาเป็นเรื่องตลก ถ้าเผอิญท่านถูกสอบเรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ ก็อาจคิดว่าดีเหมือนกัน ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ภาษิตยังว่าชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน เราไม่ดีหนเดียวเราไม่ใช่ผิดจนแก้ไขไม่ได้ เราแก้ไขได้แล้วลุกขึ้นใหม่ วันอันสดใสรอท่านแน่
            5. ฝึกจัดระบบให้ชีวิต การจัดระบบให้ชีวิตควรทำทั้งที่เป็นส่วนตัวและชีวิตการทำงาน การจัดระบบทำงานให้ตัวท่านตรงต่อเวลา มีวินัยและสามารถรับผิดชอบตนเองได้ มีตารางเวลาทำงานแน่นอน การจัดระบบให้ชีวิตไม่ใช่การตีตารางให้ตนเอง แต่เป็นกำหนดและวางแผนวิถีชีวิตให้ดำเนินได้อย่างมีเป้าหมาย มีระบบการทำงานที่ดี มีระบบวิธีการดำเนินในครอบครัวดี มีสัมพันธ์ภาพกับครอบครัวดี ชีวิตก็จะดีตามมาด้วย
ฝึกใช้เทคนิค 8 อ. ได้แก่
.ที่ 1      ได้แก่             อาหารควรให้ครบ 5 หมู่ ไม่กินอย่างใดอย่าง 
                                  หนึ่งซ้ำ ๆกัน
.ที่ 2       ได้แก่             อากาศบริสุทธิ์ สดชื่น จะรู้สึกหายใจเต็มปอด
.ที่ 3       ได้แก่             อนามัย ต้องรักษาความสะอาดทั้งร่างกายและ
                                   จิตใจ
.ที่ 4       ได้แก่             อารมณ์ขัน หัวเราะวันละนิดจิต แจ่มใส
.ที่ 5       ได้แก่             อาบน้ำอุ่นๆ จะทำให้เลือดไหลเวียนทั่วร่างกายดี
.ที่ 6       ได้แก่             ออกกำลังกายวันละนิดจิต แจ่มใส ออกทุกวันๆ ละ
                                   10 นาที
.ที่ 7       ได้แก่             อุจจาระ คือ การขับถ่ายทุกวัน เอาของเสียออก
                                   จากร่างกาย
.ที่ 8       ได้แก่             อดิเรกอะไรที่เป็นงานอดิเรกที่ชอบจงทำ จะเป็น
                                   ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เขียนหนังสือ สะสม            
                                   สแตมป์ นอน ฟังเพลง ทำเพลินๆ ลืมเรื่อง
                                   เครียดๆ ได้ พอเครียดๆ ก็จับงานอดิเรกที่ชื่น
                                   ชอบ ท่าจะมีสุขภาพจิตที่ดีแน่
          ข้อสุดท้ายสำหรับนักเครียดทั้งหลาย อาจช่วยท่านได้ แต่คนไทยเรามักไม่ค่อยเอ่ยถึง เพราะหลายท่านคิดว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมดามาก ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ ตามปกติคู่สามีภรรยา อาจช่วยให้ท่านคลายความเครียดได้ ซึ่งดีกว่าการไปคลับ บาร์ หรืออาบอบนวด ซึ่งอาจทำให้ท่านติดโรคมาก็เป็นได้
ประโยชน์ของการลดความเครียด
          ถ้าท่านลดความเครียดได้ สิ่งที่จะเกิดกับท่านข้อแรกเลย คือ ท่านก็จะไม่เป็นโรคหัวใจ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สุขภาพจิตเข้มแข็ง มองโลกในแง่ดี ความขัดแย้งในใจ ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ความขัดแย้งกับคนในครอบครัวก็หมดไป มีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตส่วนตัวได้ดียิ่งขึ้น   ทำกิจกรรมงานใดๆ อย่างมีสติ คุณภาพชีวิตท่านก็ดีขึ้นด้วย ลองมาลดความเครียดด้วยวิธีดังกล่าวกันนะคะ 
ขอขอบคุณข้อมูลการเขียน
ผ.ศ.ศุภวรรณ พันธุ์จันทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น